ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 1 นำทีมคณะผู้บริหารการศึกษายื่นข้อเสนอ 6 ประเด็น ในการปฏิรูปการศึกษาในอนาคตสำหรับเพิ่มเติมใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 1

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 กรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เป็นเจ้าภาพจัดงานเสวนา รับฟังความคิดเห็น ผู้เกี่ยวข้อง ในการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยมีผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ในนามสมาคมผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประเทศไทย) ผู้อำนวยการโรงเรียน และองค์กรครูทั่วประเทศ เข้าร่วม

สมาคมผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประเทศไทย) นำโดย ดร.อนุกูล ศรีสมบัติ ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 1 ได้นำทีมคณะผู้บริหารการศึกษายื่นข้อเสนอ 6 ประเด็น ในการปฏิรูปการศึกษาในอนาคตสำหรับเพิ่มเติมใน พ.ร.บ. การศึกษา แห่งชาติ พ.ศ……ดังนี้

1) ปฏิรูประบบการศึกษา ได้แก่ 1.1) การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและการประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน 1.2) การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ จากกิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีวิธีการเรียน หลักสูตร การวัดและประเมินผลและเวลาในการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น โดยสามารถนำไปสู่การเทียบโอนเป็นสมรรถนะในการศึกษานอกระบบต่อไปได้  

2) ปฏิรูปหลักสูตร การจัดการเรียนรู้และการวัดผลและประเมินผล 2.1) ปฏิรูปหลักสูตร ต้องปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มียืดหยุ่นและทันสมัย เป็นตามบริบทของพื้นที่ มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงในทุกระดับการศึกษา รวมทั้งการศึกษาในระบบและการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ลดหรือปรับเนื้อหาสาระและตัวชี้วัดให้เหมาะสมในแต่ละวิชาและพัฒนาการของแต่ละช่วงวัยของผู้เรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งถึงชั้นประถมศึกษาปีที่หกควรจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเพื่อลดรายวิชา 2.2) ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้การจัดการเรียนรู้ควรส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 จัดกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้โดยพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล มีการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอน พัฒนาและส่งเสริม สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน การจัดการเรียนรู้อาจจัดในสถานศึกษา นอกสถานศึกษา หรือจัดด้วยวิธีการอื่นใดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนและความแตกต่างระหว่างบุคคลที่ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามความถนัดของตนได้ และในกรณีที่สถานศึกษาไม่สามารถจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ ตามความถนัดและความพร้อมหรือตามความประสงค์ได้ครบถ้วน ให้ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนไปศึกษา ณ สถานศึกษาอื่นหรือศึกษาด้วยวิธีอื่นใดตามที่ตนต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.3)ปฏิรูปการวัดผลและประเมินผลการวัดผลและประเมินผลต้องเป็นไปตามสภาพจริงของผู้เรียนให้ความสำคัญในสมรรถนะของผู้เรียนในทุกด้าน เท่ากันและยึดตามบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างกัน สามารถเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือสมรรถนะที่ได้รับจากการศึกษาทุกระบบ

3) ปฏิรูประบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู 3.1) ปฏิรูประบบการผลิตครูสนับสนุน ส่งเสริมการผลิตครูรูปแบบปิดมากขึ้น โดยเน้นการผลิตครูที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตวิญญาณความเป็นครู รักและเข้าใจในอาชีพครู ทุ่มเท เสียสละ อดทน โดยเน้นพื้นที่เป็นฐาน 3.2) ปฏิรูปการคัดกรอง การคัดกรองครู  ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ควรเน้นความรู้และความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ ประสบการณ์ ทักษะ จิตวิญญาณและคุณธรรมจริยธรรม 3.3) ปฏิรูปผู้ประกอบวิชาชีพครู ให้ครูเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก  มีทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี  มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม จัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทัศนคติที่ดีในจิตวิญญาณในวิชาชีพครู

4) ปฏิรูประบบการบริหารจัดการศึกษา 4.1)การบริหารการเงินและงบประมาณที่ใช้ในการจัดการศึกษา  รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาให้เพียงพอและเหมาะสมกับรูปแบบ ระดับ และประเภทการศึกษา สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป และกระจายให้ถึงผู้เรียนและสถานศึกษาโดยตรง การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเพื่อการศึกษาของรัฐ ให้จัดสรรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้เรียนในสถานศึกษาเอกชนและผู้เรียนการศึกษาทางเลือก ต้องได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินอื่นที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้และสิทธิประโยชน์อื่นไม่น้อยกว่าผู้เรียนในสถานศึกษาของรัฐ  รัฐต้องจัดสรรงบประมาณที่เป็นค่าอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ให้กับผู้เรียนทุกคนทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงการศึกษาภาคบังคับโดยจัดสรรโดยตรง ให้สถานศึกษาของรัฐมีอิสระในการบริหารงบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และบรรดาเงินรายได้ทั้งปวงที่สถานศึกษาได้รับ ไม่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณ  4.2) เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ และค่าตอบแทน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาของรัฐได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนอื่น ตามที่กำหนดในกฎหมาย โดยการประเมินวิทยฐานะของครู ในระดับชำนาญการ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษา สำหรับระดับชำนาญการพิเศษและระดับเชี่ยวชาญ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัดที่เหนือขึ้นไปหนึ่งระดับ  ในส่วนการประเมินวิทยฐานะของผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ในระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ และระดับเชี่ยวชาญ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทางการศึกษาหรือองค์กรทางการศึกษาที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดในระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือระดับจังหวัด หรือระดับภูมิภาคแล้วแต่กรณี  การประเมินวิทยฐานะระดับเชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งให้กระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานของรัฐในส่วนกลางที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการ  ในส่วนการประเมินให้มีหลากหลายทางเลือกตามความรู้ ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ และผลงานของแต่ละบุคคล 4.3) จัดให้มีระบบคลังข้อมูลหน่วยกิตในระบบการศึกษาทุกประเภทและทุกระดับ4.4) การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนา  รัฐต้องจัดสภาพการเรียนรู้ที่ทันสมัย สร้างห้องเรียนที่ยืดหยุ่น  สนับสนุนห้องเรียน E-Classloom  และจัดให้มีอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี นวัตกรรมทุกห้องเรียน มีห้องปฏิบัติการครบทุกกลุ่มสาระ 

5) ปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงรูปแบบบริหารจัดการกระทรวงศึกษาธิการแบบเดิม ไม่สนับสนุน Single command ให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นทิศทางในการจัดการศึกษา  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นองค์คณะบุคคลในการบริหาร ให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เป็นหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัดในการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา กำกับ ติดตามส่งเสริมปฏิบัติการสถานศึกษาในสังกัด ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นองค์คณะบุคคลในการบริหาร ให้มีสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด หรือสถาบันอาชีวศึกษาในภูมิภาคเป็นหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัดในการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา กำกับ ติดตามส่งเสริมปฏิบัติการสถานศึกษาในสังกัด ให้มีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  การบริหารและการจัดการศึกษาของส่วนราชการอื่น  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็น กรม เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรเป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีองค์กรวิชาชีพครู มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษา และให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานทางการศึกษาที่บูรณาการกับหน่วยงานทางการศึกษาอื่น และหน่วยงาน หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดโดยให้รับผิดชอบ ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน การนำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สู่การปฏิบัติ  ให้สถานศึกษาของรัฐทุกแห่ง จัดการศึกษาในระดับปฐมวัย หรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการอาชีวศึกษา เป็นนิติบุคคล  จัดให้มีกลุ่มโรงเรียนที่จำเป็นต้องมีสถานที่ อุปกรณ์ในการศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาร่วมกัน โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีประกอบกัน โดยให้กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ  งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา

6) ปฏิรูปกฎ ระเบียบและข้อบังคับ ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา   ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานและมีความรับผิดชอบเกินมาตรฐานตำแหน่ง หรือมาตรฐานวิทยฐานะหรือมีความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่เป็นพิเศษ ต้องได้รับเงินค่าตอบแทน นอกเหนือจากเงินเดือน เงินค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน  บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค (๒)  ควรได้รับการส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพ โดยไม่ต้องรอกรอบอัตรากำลัง และมีค่าตอบแทนเหมือนกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  พนักงานราชการ ที่มีอายุราชการไม่น้อยกว่าสิบปี ที่มีผลการปฏิบัติงาน มีคุณภาพและผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีความบกพร่องในศีลธรรมหรือจรรยาบรรณ ให้สามารถบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูได้โดยไม่ต้องสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือก และจัดให้มีบุคลากรสนับสนุนงานการสอนให้เพียงพอทุกสถานศึกษา เช่น บุคลากรด้านธุรการ นักการภารโรง หรือเจ้าหน้าที่โภชนาการ ฯลฯ